Friday, July 3, 2009


ไมเกรน เป็นอาการปวดศรีษะที่พบบ่อย โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 20-25 ปี และเป็นโรคที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นๆหายๆ และที่สำคัญมักไม่หายขาด เรามาทำความเข้าใจกับไมเกรนเพื่อหนีให้ห่าง
จากอาการปวด
ปวดศีรษะแบบไหนที่เรียกว่า "ไมเกรน"

อาการปวดศีรษะไมเกรน มีสาเหตุมาจากการทำงานของระบบก้านสมองจากหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองผิดปกติ ซึ่งจะมีผลต่อการหดและขยายตัวของหลอดเลือด หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนและผู้หญิงตั้งครรภ์ จึงทำให้ผู้ที่เป็นไมเกรนจะปวดศีรษะนานถึง 4-72 ชั่วโมง และจะปวดแบบตุ๊บๆ ข้างเดียว แถวขมับ เบ้าตาด้านข้าง หรือท้ายทอย โดยอาการปวดอาจย้ายข้างได้ แต่ก็มักจะเป็นข้างหนึ่งบ่อยกว่าอีกข้างหนึ่ง หรือบางครั้งก็อาจปวดสองข้างพร้อมกัน


อาการปวดอาจจะมีอาการเตือนล่วงหน้าที่เรียกว่า ออรา เกิดขึ้นก่อนที่จะปวดศีรษะก็ได้ ซึ่งอาการเตือนนี้เป็นผลมาจากอาการทางระบบประสาทที่จะทำให้การมองเห็นผิดปกติไป เช่น เห็นแสงระยิบระยับ ไฟกระพริบ จุดดำ เห็นเส้นซิกแซก เส้นหยักแล้วขยายขึ้น หรือเห็นภาพผิดปกติ เป็นต้น บางครั้งอาจมีอาการผิดปกติของการรับรู้ความรู้สึกร่วมด้วยก่อนอาการปวดศีรษะ เช่น เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ ง่วงซึมหรือซึมเศร้า โดยความรุนแรงก็จะแตกต่างไปในแต่ละคน
ทำอย่างไรให้อาการปวดศีรษะไมเกรนดีขึ้น

การปวดศีรษะไมเกรนแม้จะไม่หายขาด แต่การปรับพฤติกรรมอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะส่งผลต่อความถี่และความรุนแรงของอาการปวดที่เพิ่มขึ้นได้แก่




1. อดนอน

2. ความเครียดจากงาน หรือเครียดจากการสอบ

3. การอดอาหาร หรือรับประทานอาหารมากเกินไป

4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเบียร์และไวน์แดง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

5. อาหารประเภท ชีส ชอคโกแลต ของหมักดอง น้ำตาลเทียม ผงชูรส

6. อากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น อากาศ ความสูง แสงจ้า กลิ่น หรือการเปลี่ยนเวลาเข้านอนและเวลาตื่นนอน

วิธีดูแลตัวเองเพื่อให้ไม่เป็นไมเกรน



1. ลองสังเกตตัวเอง ทำการจดบันทึกเพื่อช่วยหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน สังเกตว่าเริ่มปวด
เมื่อไหร่ นานเท่าใด อะไรทำให้เกิดอาการปวด ผลการตอบสนองต่อยาที่ใช้ หรือสังเกตว่าอะไรที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดไมเกรน

2. ออกกำลังกายโดยวิธีคลายกล้ามเนื้อ เช่น นั่งสมาธิ โยคะ หรือผ่อนคลายโดยวิธีอื่น เช่น ฟังเพลง ทำสวน อ่านหนังสือ


3. พักผ่อนเพียงพอ และไม่มากเกินไป โดยเฉลี่ยควรนอน 5-9 ชั่วโมงต่อคืน และควรนอนพักในห้องที่เงียบและสงบ เมื่อเริ่มปวดให้ใช้แผ่นเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งวางบริเวณหลังคอ และนวดศีรษะบริเวณที่ปวดเบาๆ